top of page

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙)

ชาติภูมิ

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู บ้านเลขที่ ๓๒ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของนายมิ่ง และนางสำเภา สุดประเสริฐ มีพี่น้อง ๔ คน คือ 

๑. นายสี สุดประเสริฐ พ.ศ. ๒๔๖๖
๒. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง สุดประเสริฐ) พ.ศ. ๒๔๖๘
๓. น.ส.แฉล้ม สุดประเสริฐ พ.ศ.๒๔๗๑ (ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๙๒)
๔. นายจำปี สุดประเสริฐ พ.ศ. ๒๔๗๓ (ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๔๗)

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นายมิ่ง สุดประเสริฐ ได้ถึงแก่กรรม นางสำเภา ซึ่งมีลูกเล็ก ๆ หลายคน ต้องรับภาระครอบครัวอย่างหนัก ต่อมานายคต เจริญผล ได้เข้ามาช่วงแบ่งเบาภาระและสมรสกับนางสำเภา มีบุตรธิดาด้วยกัน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงมีน้องร่วมอุทรมารดาอีก ๔ คน คือ 
๑. นางอรุณ นาคมีพิษ พ.ศ. ๒๔๗๖
๒. นายบุญส่ง นาคมีพิษ พ.ศ. ๒๔๗๙
๓. นางทองใบ สนั่นทุ่ง พ.ศ. ๒๔๘๒
๔. น.ส.สังเวียน เจริญผล พ.ศ. ๒๔๘๖

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

บรรพชา

ขณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอายุได้ ๗ ปี นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลักปิด-ลักเปิดอย่างรุนแรง เลือดไหลไม่หยุด ญาติจึงให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ และพี่ชายบรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณี หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พี่ชายได้ลาสิกขาบท แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังคงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาสิกขา หลังจากนั้นชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จก็เริ่มผูกพันกับวัดในละแวกบ้าน คือ วัดสังฆราชาและวัดลาดกระบัง เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี จึงได้บรรพชาอีกครั้ง เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมี พระครูศีลาภิรัต (ทอง) วัดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาและสอบนักธรรมชั้นตรี และชั้นโทได้ในนามวัดสังฆราชา ในระหว่างนั้นได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อเลี้ยงพระภิกษุสามเณร มีผู้นำอาหารมาถวายทุกวัน ไม่ต้องออกบิณฑบาต เกิดความรู้สึกอยากจะมาศึกษาต่ออยู่ภายใต้ร่มบารมีธรรม ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ย้ายมาอยู่วัดปากน้ำโดยพระแจ่มวัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากกับ หลวงพ่อวัดปากน้ำ และนายสี พี่ชายตามมาส่ง 

อุปสมบท

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นามฉายา “วรปุญฺโญ” พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ ด้วยความเป็นผู้ขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สอบได้โดยลำดับถึง ป.ธ.๗ หลวงพ่อวัดปากน้ำนำไปฝากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (กิตฺติโสภณมหาเถร) เพื่อให้ศึกษา ป.ธ. ๘, ๙ ในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หลังจากสำเร็จการศึกษา ป.ธ. ๙ แล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไปรับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่หลวงพ่อริเริ่มไว้ จวบจนถึงปัจจุบัน 

วิทยฐานะ

พ.ศ. ๒๔๘๐ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนประชาบาล วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๘๔ นักธรรมชั้นโท วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๙๐ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๙๒ เปรียญธรรม ๗ ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๙๗ เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

การศึกษาพิเศษ

ได้ศึกษาสมถะ-วิปัสสนา ตามแนววิชชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตั้งแต่เป็นสามเณร ถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๙๒ -๒๕๐๘ เป็นผู้ทรงจำและสวดพระปาฏิโมกข์ ณ วัดเบญจมบิตร และวัดปากน้ำ 

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที
พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวรเวที
พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาบดี
พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรบัฏที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

งานปกครอง 
พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นเลขานุการสมเด็จสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร
พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง)
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๓
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง)
พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๖ เป็นเจ้าคณะภาค ๓ รวม ๒ สมัย
พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๘ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๗ รวม ๓ สมัย
พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๗ เป็นเจ้าคณะภาค ๗
พ.ศ. ๒๕๓๒-ปัจจุบัน เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๘ เป็นกรรมการ พ.ศ.ป.
พ.ศ. ๒๕๓๓-ปัจจุบัน เป็นกรรมการ ศ.ต.ภ.
พ.ศ. ๒๕๓๗-ปัจจุบัน เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชฯ

งานศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๗ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นผู้นำประโยคบาลีสนามหลวง ไปทำการเปิดสอบในจังหวัดต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน
พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๗ เป็นผู้อำนวยการตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรี ภาค ๗
พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นรองแม่กองบาลีสนามหลวง รูปที่ ๑
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง
พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์

งานเผยแผ่ในประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒
เป็นรองประธานคณะพระธรรมจาริก รูปที่ ๑
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นประธานคณะพระธรรมจาริก

งานเผยแผ่ในต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้เริ่มสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลเทพมุนี” เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวต่างชาติมาถึงปัจจุบัน สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๕๐ ล้านบาท

พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำญี่ปุ่น” เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวญี่ปุ่นภายในวัดมีเสนาสนะบริบูรณ์ และได้สร้างอุโบสถสถาปัตยกรรมไทย ประกอบพิธีผูกสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๙-๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท

พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำนิวซีแลนด์” เมืองทัวรังง่า ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวนิวซีแลนด์ ปัจจุบันกำลังดำเนินการสร้างอุโบสถ และเสนาสนะ สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ ๖๐ ล้านบาท 

พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้การอุถัมภ์การสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาแห่งที่ ๒ ณ เมืองเดตัน รัฐโอโอโฮ โดยพระมหาสมัคร สมคฺโค ที่ได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ ต่อมาพระมหาสมัครได้เข้ารับพระราชทานพัดยศที่พระอุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ที่ “พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณ” พร้อมกันนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้มีเมตตาอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากเดิม “วัดพุทธมงคลภาวนา” เป็น “วัดปากน้ำอเมริกา” และได้รับไว้เป็นวัดที่อยู่ในความอุปถัมภ์สาขาของวัดปากน้ำ 

ต่อมาในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้มอบหมายให้พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณไปดำเนินการติดต่อขอซื้อบ้านหลังติดกันที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด เยื้องประตูทางเข้า เพื่อว่าจะได้เป็นที่ผืนเดียวกัน วัดจะได้มีบริเวณพื้นที่ทั้งหมดเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมกับรับอุปถัมภ์เป็นเจ้าภาพซื้อถวายเป็นจำนวนเงิน ๕ ล้านบาท (ยังไม่รวมยอด) 

งานสาธารณูปการ 
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้อาศัยอยู่ในวัด และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สาธุชนที่มาทำบุญที่วัดปากน้ำ ตราบถึงปัจจุบันนี้ ในเรื่องหลัก ๖ ประการ คือ
๑. บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะเก่า
๒. ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุใหม่
๓. อนุรักษ์โบราณวัตถุ รักษาให้อยู่ในสภาพดี
๔. จัดซื้อที่ดินเพื่อขยายอาณาเขตของวัด
๕. สร้างถนนกึ่งสะพานเป็นทางเข้าวัด
๖. จัดทำระบบไฟฟ้าและน้ำประปาทั่วทั้งวัด
รวมค่าก่อสร้างภายในวัดเป็นจำนวนเงินประมาณทั้งสิ้น ๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ร้อยล้านบาทถ้วน) 

งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 
พ.ศ.๒๕๒๔ ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ” เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๘) รวมค่าบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์นอกวัด เป็นเงินจำนวนประมาณทั้งสิ้น ๒๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยสามสิบล้านบาทถ้วน) 

ประมวลค่าก่อสร้างทั้งสิ้นมีดังนี้ ค่าก่อสร้างภายในวัด เป็นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ค่าก่อสร้างภายนอกวัด เป็นเงินจำนวน ๒๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
รวมทั้งสิ้นประมาณ เป็นเงินจำนวน ๖๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(หกร้อยสามสิบล้านบาทถ้วน) 

พ.ศ.๒๕๒๙ ได้จัดถวายทุนแก่สำนักศาสนศึกษา ๗๒ แห่งทั่วประเทศ สำนักละ ๑ แสนบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นทุนมูลนิธิเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ในนามพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) รวมปัจจัยทั้งสิ้น ๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านสองแสนบาทถ้วน) 

งานประวัติศาสตร์ 
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อนและพระเจดีย์ถวายเป็นธรรมานุสรณ์ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ และรัชมังคลาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ค่าก่อสร้าง จำนวน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน) 

พ.ศ.๒๕๓๔ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ค่าก่อสร้าง ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน) 

พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนแล้วเสร็จเรียบร้อย และมอบให้มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ค่าก่อสร้าง จำนวน ๗๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) 

๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เริ่มก่อสร้างพระเจดีย์มหารัชมงคล ขนาดความสูง ๘๐ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร งบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามร้อยล้านบาทถ้วน) 

งานพิเศษ 
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นองค์สังคีติการกคณะสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมปฏิบัติงานสังคายนาพระไตรปิฎก 
พ.ศ. ๒๕๒๔-ปัจจุบัน เป็นประธานมูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ ม.ส.จ.
พ.ศ. ๒๕๓๔ - ประธานคณะอนุกรรมการจัดหาทุนสร้างพุทธมณฑลฝ่าย สงฆ์
- เป็นกรรมาธิการแห่งสังคีติการกสงฆ์ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ
- เป็นกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ฝ่ายบรรพชิต
- เป็นคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้างวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล


สมณศักดิ์ต่างประเทศ 
พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศบังกลาเทศ ที่ พระศาสนธชมหา ปัญญาสาระ
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระ ชินวรสาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณะปาโมกขาจริยะ
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระสาสนโชติกสัทธัมมวิสารทวิมลกิตติสิริ
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิรเตปิฏกวิสารโท
พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับสรณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระ ติปิฏกปัณฑิตธัมมกิติสสิริยติสังฆปติ
พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับแต่งตั้งเป็ฯพระอุปัชฌาย์ของประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายะธรรมธีรมหามุนี เถระ
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระเถร วาทะวังสาลังการะสยามเทสะสาสนธชะ 

เกียรติคุณ 
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหา จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย ประเทศศรีลังกา
พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสังฆสภาอินเดีย ประเทศอินเดีย 
พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหา มหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

bottom of page